เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบางคนกินเยอะมาก แต่กลับไม่อ้วนเลย ทั้ง ๆ ที่อีกคนพยายามคุมอาหาร หรือระวังเรื่องการกินแทบตาย แต่หากเผลอกินเค้กชิ้นเดียวน้ำหนักพุ่งทันที ล่าสุด (2021) นักวิจัยพบยีนกลายพันธุ์หายากในมนุษย์ (บางคน) ที่ส่งผลให้คน ๆ นั้น เหมือนมีพลังพิเศษในการป้องกัน “โรคอ้วน” หรือก็คือ เป็นพวกกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน !

ตามรายงานในวารสาร Science นักวิจัยจาก Regeneron Genetics Center ค้นพบว่า มนุษย์ที่ยีน GPR75 ในร่างกายไม่ยอมทำงาน (ในทางพันธุกรรมศาสตร์เรียกกระบวนการนี้ว่าการกลายพันธุ์ ‘loss of function’) จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคอ้วนน้อยกว่าคนทั่วไปที่ยีนตัวนี้ทำงานปกติถึง 54 %

โดยในการศึกษานี้ นักวิจัยทำการสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลทางพันธุกรรมของอาสาสมัครทั้งหมดกว่า 645,000 คน จากในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก เผยว่าผู้ที่มียีนกลายพันธุ์ดังกล่าวจะมีแนวโน้มที่มีน้ำหนักน้อยกว่าคนทั่วไปประมาณ 5.4 กิโลกรัม แถมค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ก็ต่ำกว่าด้วย ซึ่งการกลายพันธุ์แบบนี้จะปรากฏขึ้น 1 ใน 3,000 คน นับว่าค่อนข้างหายากเลยทีเดียว

เหล่านักวิจัยผู้ค้นพบยีนกลายพันธุ์ดังกล่าว

ทั้งนี้ การค้นพบดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากการทดลองกับหนู ที่นักวิจัยทำการดัดแปลงพันธุ์กรรมหนู 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกปล่อยให้ยีน GPR75 ทำงานปกติ และอีกกลุ่มดัดแปลงให้ยีน GPR75 ไม่ทำงาน ซึ่งตลอดระยะเวลาการทดลองนักวิจัยจะให้อาหารที่มีไขมันสูงกับหนูทั้ง 2 กลุ่ม ซึ่งผลปรากฏว่า หนูที่ถูกดัดแปลงให้ยีน GPR75 ไม่ทำงาน มีน้ำหนักน้อยกว่าหนูกลุ่มแรกที่ยีน GPR75 ทำงานปกติถึง 44 % ทำให้เรื่องนี้ได้รับการยืนยันมากเข้าไปอีกว่านี่เป็นเหตุผลที่ทำไมบางคนกินเท่าไหร่ก็ไม่อ้วน

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าโรคอ้วนนั้นจะมีปัจจัยด้านพฤติกรรม ทั้งการกินและการออกกำลังกาย รวมถึงสิ่งแวดล้อมเกี่ยวข้องด้วย แต่ในทางพันธุกรรม ยีนนับว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่ทำให้เกิดโรคอ้วน เนื่องจากมันมีบทบาทในเรื่องการเผาผลาญพลังงานและการสะสมพลังงาน ซึ่งคนส่วนใหญ่ที่เป็นโรคอ้วนร่างกายมักจะเผาผลาญพลังงานได้ต่ำและเก็บสะสมพลังงานมาก (ไขมัน) ทั้งนี้ประกอบกับการกินอาหารที่มีแป้งและไขมันมากเกินไปด้วย

หนูที่ดัดแปลงพันธุกรรม GPR75 (ซ้าย) และ หนูที่ไม่ได้ถูกดัดแปลงพันธุกรรม (ขวา)

ในตอนนี้โรคอ้วนถือว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดอย่างหนึ่งของโลก โดย WHO กล่าวว่า “นับตั้งแต่ปี 1975 จนถึงปัจจุบัน มีผู้คนป่วยเป็นโรคอ้วนมากขึ้นทุกปี ซึ่งมีผู้ใหญ่กว่า 600 ล้านคนทั่วโลกเป็นโรคอ้วน และอีกกว่า 1.3 พันล้านคน กำลังประสบปัญหาภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งแต่ละปีผู้คนเสียเงินไปกับค่ารักษาโรคอ้วนกว่าปีละเกือบ 5 ล้านล้านบาท (เฉพาะในอเมริกาเท่านั้น) ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากพฤติกรรมการกินที่ไม่ดีและการออกกำลังกายที่ลดลง”

สุดท้าย George D. Yancopoulos หัวหน้าศูนย์วิจัย Regeneron Genetics Center ที่มีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้กล่าวว่า “การค้นพบการกลายพันธุ์ของยีน GPR75 อาจเป็นประตูสู่การรักษาและป้องกันโรคอ้วนรูปแบบใหม่ ด้วยการตัดต่อยีนปิดการทำงานของยีน GPR75 ก็เป็นได้”

จำนวนทั้งหมด 2424 รายการ
1
2
3
4
5
...
202