เมื่อปี 2018 นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ บังเอิญค้นพบฟอสซิลของ “อาเทอเพอร์รา” (Arthropleura) สัตว์ขาปล้องที่เป็นบรรพบุรุษของกิ้งกือในปัจจุบัน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แถมยังทำลายสิถิติใหญ่กว่าแมงป่องทะเลโบราณที่เคยเป็นเจ้าของสถิติสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่ใหญ่ที่สุดโลกมาก่อน
นีล เดวีส์ นักธรณีวิทยาจาก Department of Earth Sciences พบฟอสซิลนี้ระหว่างที่กำลังเดินสำรวจชายหาดที่ Howick Bay ใน Northumberland ประเทศอังกฤษ จู่ ๆ ก็มีหินก้อนหนึ่งตกลงมาจากหน้าผาจนแตกออก และเผยให้เห็นซากฟอสซิลอาเทอเพอร์รา อายุประมาณ 326 ล้านปี ! เขากล่าวว่า “มันเป็นความบังเอิญที่สมบูรณ์แบบ และหายากมาก มันเป็น 1 ใน 3 ฟอสซิลอาเทอเพอร์รา ที่ค่อนข้างสมบูรณ์”
โดยชิ้นส่วนฟอสซิลที่พบเป็นชิ้นส่วนเปลือกที่ถูกลอกคลาบทิ้งไว้ มีขนาดยาว 75 เซนติเมตร กว้าง 55 เซนติเมตร ซึ่งนักวิจัยประเมินว่า ขนาดตัวเต็ม ๆ ของมัน อาจยาวได้ถึง 2.6 เมตร หนัก 50 กิโลกรัม สิ่งนี้เซอร์ไพรส์นักวิจัยอย่างมาก เพราะก่อนหน้านี้พวกเขาคาดว่ามันน่าจะยาวได้สูงสุด 2 เมตร เท่ากับว่าตัวนี้มันยาวกว่าปกติถึง 60 เซนติเมตรเลยทีเดียว และที่สำคัญ นี่เป็นเพียงเปลือกที่ลอกคลาบเท่านั้น หมายความว่าตอนที่มันมีชีวิตอยู่ต้องตัวใหญ่กว่านี้แน่นอน
ทั้งนี้ การพบฟอสซิลของอาเทอเพอร์ราเป็นเรื่องยาก เมื่อเทียบกับสัตว์โบราณที่มีกระดูกสันหลัง เพราะหลังจากที่อาเทอเพอร์ราตาย ร่างของมันจะถูกย่อยสลายตามธรรมชาติ สิ่งที่จะพบได้ก็จะมีแต่ฟอสซิลของเปลือกที่ลอกคลาบทิ้งไว้นี่แหละ แถมต้องถูกเก็บรักษาในสภาพแวดล้อมที่การย่อยสลายต่ำด้วย โดยฟอสซิลที่พบนี้ถูกเก็บรักษาไว้ในหินทรายอย่างดี
นีล เดวีส์ กล่าวว่า “หลังจากที่อาเทอเพอร์ราตัวนี้ลอกคลาบเสร็จ เปลือกของมันน่าจะตกลงในแม่น้ำสายเล็ก ๆ และถูกตะกอนใต้แม่น้ำฝังกลบไว้อย่างรวดเร็ว ทำให้ถูกรักษาสภาพไว้ได้ ไม่ถูกย่อยสลายไป” ทั้งนี้ นักวิจัยรู้จักอาเทอเพอร์ราครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1854 จากฟอสซิลและรอยเท้าของมันบริเวณประเทศสกอตแลนด์

สำหรับสาเหตุที่พวกมันมีขนาดใหญ่แบบนี้ เป็นผลมาจากความเข้มข้นของออกซิเจนในยุคนั้นที่มีมากกว่ายุคปัจจุบันถึง 50% นั่นจึงทำให้สามารถรองรับระบบไหลเวียนโลหิตของสัตว์ขนาดยักษ์อย่างอาเทอเพอร์รา และเอื้อให้สัตว์ชนิดอื่น ๆ สามารถเจริญเติบโตเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม ถึงจะเป็นกิ้งกือแต่พวกมันไม่ใช่เหยื่อของนักล่าชนิดไหน นั่นก็เพราะเมื่อถูกคุกคามพวกมันจะตั้งท่าต่อสู้ด้วยการชูตัวขึ้น และสามารถพ่น “พิษ” โจมตีคู่ต่อสู้ได้อีกด้วย โดยพิษของมันเหมือนมีฤทธิ์เหมือนไซยาไนด์ โดยจะฉีดพิษผ่านท่อที่อยู่บริเวณด้านล่างของขากรรไกร ซึ่งสามารถเผาไหม้เนื้อเยื่อของเหยื่อได้ แถมมีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท เหยื่อที่ถูกกัดจะตัวสั่น ชัก และควบคุมร่างกายไม่ได้ จนตายไปในที่สุด